วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

การปลูกผักหวานป่า

การปลูกผักหวานป่า

         


          ผักหวานป่า เป็นพืชผักพื้นบ้านที่คนส่วนใหญ่รู้จักและนิยมบริโภค แต่จะมีให้บริโภคเฉพาะฤดูกาลเท่านั้นคือช่วง มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นผักหวานที่เก็บจากป่าธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากยังมีการปลูกกันน้อย โดยเฉพาะการปลูกเป็นสวนเชิงการค้า จะมีแหล่งปลูกใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง เช่นที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เกษตรกรปลูกผักหวานป่าขายเป็นอาชีพ มีรายได้ตลอดปีทั้งจากการขายยอดผักหวานป่า และขายต้นกล้าผักหวานป่า

การปลูกและบำรุงรักษา

          การเตรียมดิน ในแปลงศึกษาทดสอบของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) เริ่มเตรียมหลุมปลูกในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม โดยขุดหลุมขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ผสมวัสดุปลูกโดยใช้ดิน ปุ๋ยคอก แกลบดิบที่ย่อยสลายแล้ว อัตราส่วน 1:1:1 โดยปริมาตรผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วกลบลงในหลุมปลูก การเตรียมวัสดุปลูกที่ดี มีระบบการให้น้ำ และปลูกพืชให้ร่มเงา จะทำให้ต้นผักหวานป่าเจริญเติบโตได้เร็ว    






           การเตรียมต้นกล้า สร้างความแข็งแรงให้ต้นกล้าก่อนย้ายปลูกลงหลุมจริง ด้วยการรดน้ำให้น้อยลง ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้นทีละน้อย ละลายปุ๋ยโปแตสเซียมไนเตรท ความเข้มข้นไม่เกิน 2% (1 กรัมต่อน้ำ 50 ลิตร) รดต้นกล้าก่อนย้ายปลูก ประมาณ 2 อาทิตย์ และงดให้น้ำ 1 วัน ก่อนย้ายปลูก



           ระยะปลูก ผักหวานป่าสามารถปลูกได้หลายระยะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก ในแปลงศึกษาทดสอบของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) จะใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร, 1.5x1.5 เมตร ซึ่งเป็นการปลูกระยะชิด เพื่อเพิ่มจำนวนต้นและผลผลิตต่อไร่ ควรมีการตัดแต่งไม่ให้ต้นสูง และสร้างทรงพุ่มเล็ก เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว หรือจะใช้ระยะปลูก 2-3x2-3 เมตร จะทำให้สะดวกในการดูแลจัดการสวน

     การปลูก หัวใจสำคัญของการปลูกผักหวานป่าให้รอดตายคือ อย่าให้รากของผักหวานป่าได้รับการกระทบกระเทือนจนรากขาด การถอดถุงพลาสติกเพื่อนำต้นกล้าลงหลุมปลูกต้องระวังอย่าให้ตุ้มดินแตกหักหรือรากขาด เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตเป็นเวลานาน การปลูกควรให้ต้นกล้าสูงกว่าปากหลุมประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วพูนดินขึ้นกลบโคนโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังหลุมปลูก ปลูกไม้พี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มเงาผักหวานป่าในช่วง 2 ปีแรก เช่น มะเขือเปราะ พริก โดยปลูกด้านข้างหลุมทางทิศตะวันตก ในแปลงปลูกผักหวานป่าต้องปลูกไม้ให้ร่มเงา เช่น ต้นมะขามเทศ ชะอม สะเดา น้อยหน่า เหลียง แค เลี่ยน ซึ่งนิสัยของผักหวานป่าจะชอบแสงแดดรำไร ปริมาณแสง 50% ชอบอากาศร้อน จะช่วยให้แตกยอดอ่อนได้ดี
        
    การให้น้ำ ในช่วงต้นฤดูฝน ผักหวานป่าจะได้น้ำจากน้ำฝนธรรมชาติที่ตกลงมา แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องมีการให้น้ำช่วยในช่วงแรกของการปลูกใหม่ หรือในหน้าแล้งโดยให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พอให้ดินชื้นอย่าให้ดินแฉะ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำมากนัก ในแปลงศึกษาทดสอบของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) จะมีการให้น้ำโดยระบบน้ำหยด

        การใส่ปุ๋ย หลังปลูกผักหวานป่าได้ 3-4 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราส่วน 10-15 กรัม/ต้น ห่างโคนต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร โรยทับด้วยปุ๋ยคอกแล้วกลบดิน ในแปลงศึกษาทดสอบการปลูกผักหวานป่าของศูนย์ฯ ในช่วงปีแรกจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอก 4 เดือน/ครั้ง เพิ่มปริมาณปุ๋ยตามขนาดของต้นผักหวานป่า   เมื่อขึ้นสู่ปีที่สองจะใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน และปลายฤดูฝน ประมาณเดือน กันยายน-ตุลาคม โดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัม/ต้น โรยทับด้วยปุ๋ยคอก 1-3 บุ้งกี๋/ต้น ในช่วงนี้ต้นผักหวานป่าที่สมบูรณ์จะมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร


         การกำจัดวัชพืช ใช้วิธีถอน ใช้มีดหรือจอบสับ หรือใช้เครื่องตัดหญ้า แล้วนำเศษวัชพืชคลุมโคนต้นผักหวานป่า ไม่แนะนำให้ใช้จอบถากหญ้าและพรวนดิน เพราะจะกระทบกระเทือนกับระบบราก



การเจริญเติบโตและการจัดทรงต้น

          ในการปลูกผักหวานป่าด้วยการเพาะเมล็ดนั้น ไม่ควรชำอยู่ในถุงนานเกินไป รากอาจจะขดเมื่อนำไปปลูกลงแปลงและอาจทำให้รากฉีกขาดได้ ผักหวานป่าเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้ามาก เช่น อายุ 1 ปี อาจสูงไม่เกิน 1 ฟุต จากการสังเกตในแปลงศึกษาทดสอบการปลูกผักหวานป่าของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) พบว่าผักหวานป่าอายุปลูกเท่ากัน การเจริญเติบโตจะไม่สม่ำเสมอกัน และจะเจริญเติบโตแตกกิ่งกระโดงได้ดีในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ผักหวานป่าแตกยอดให้ผลผลิต ผักหวานป่าต้นที่สมบูรณ์อายุ 1 ปีครึ่ง จะสูงประมาณ 1-1.5 เมตร เมื่อผักหวานป่าโตเต็มที่จนเก็บผลผลิตได้จะมีอายุยืนมาก ในป่าธรรมชาติมีอายุกว่า 100 ปี สำหรับการปลูกผักหวานป่าเป็นสวน โดยเฉพาะการปลูกระยะชิด อาจต้องควบคุมความสูงของต้นและุทรงพุ่มให้อยู่ที่ 1-1.5 เมตร เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว










การเก็บเกี่ยว
         เมื่อผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มที่ ก็เริ่มทำการตัดแต่งกิ่ง โดยตัดปลายกิ่งแขนงทิ้งให้เหลือยาว 15-20 เซนติเมตร รูดใบแก่บางส่วนทิ้งให้เหลือติดกิ่ง ๆ ละ 3-4 ใบ พร้อม ๆ กับการให้น้ำพอดินชื้น เมื่อยอดแตกออกมายาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก็เก็บยอดไปจำหน่ายได้ โดยเก็บในช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยงวัน จะหยุดเก็บเพราะอากาศร้อนยอดผักหวานจะเหี่ยวงอไม่สดชื่น


วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์


เทคนิคการปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์

     1.การเลือกพันธุ์

มะนาวทุกพันธุ์ที่ปลูกในบ่อซีเมนต์ สามารถบังคับให้ออกดอก-ติดผลนอกฤดูกาลตลอดทั้งปี แต่พันธุ์ที่ปลูกแล้วมีปัญหาโรคแคงเกอร์ค่อนข้างน้อยและเป็นพันธุ์ที่มีน้ำมากกลิ่นหอมได้รับความนิยมในตลาดคือ มะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร1


         2.การเตรียมวงบ่อซีเมนต์
ใช้วงบ่อซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80100 ซม. สูง 40 ซม. ที่ด้านล่างของวงบ่อซีเมนต์ต้องมีแผ่นซีเมนต์วงกลมวางรองอยู่ก้นวงบ่อซีเมนต์ (แต่ต้องไม่เชื่อมต่อกับวงบ่อ)
ระยะการวางบ่อซีเมนต์ ปลูกได้ 2 แบบ


             แบบที่ 1 ระหว่างแถวห่างกัน  3 เมตร ระหว่างต้นห่างกัน  3 เมตรเพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต


               แบบที่ 2 ระหว่างแถวห่างกัน 3.5 เมตร ระหว่างต้นห่างกัน   3 เมตร เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

          3.การเตรียมดิน

     ควรเลือกหน้าดินที่มีความอุดมสมบรูณ์สูง เป็นดินร่วนซุยไม่เหนียวจัดควรนำดินที่มีความอุดมสมบรูณ์สูง มาผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว โดยใช้อัตราส่วนดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 ส่วนนำดินที่ผสมเรียบร้อยแล้วใส่ในวงบ่อซีเมนต์ที่จัดเตรียมไว้ให้เต็มวงบ่อซีเมนต์ เกลี่ยให้แน่นพอสมควร แล้วพูนดินปลูกขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยเมื่อปลูกมะนาวไปได้ระยะหนึ่งดินจะยุบตัวพอดีกับขอบวงบ่อซีเมนต์           

             4.การปลูกมะนาว

    คัดเลือกกิ่งตอนหรือปักชำจากต้นที่สมบรูณ์แข็งแรงมาปลูกในวงบ่อซีเมนต์วิธีการปลูก ควรขุดหลุมเล็ก ๆ ตรงกลางวงบ่อซีเมนต์
นำต้นมะนาวมาปลูกกลบดินในแน่นพอประมาณ นำหลักผูกกับต้นมะนาวเพื่อป้องกันลมพัดต้นโยก แล้วนำเศษหญ้าหรือฟางข้าวคลุมหน้าดินแต่ละวงบ่อ

5.ขั้นตอนการบังคับมะนาวให้ออกนอกฤดู

1.การสังเกตที่ยอดมะนาว ใบยอดสุดต้องไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป


2.เตรียมต้นก่อนการงดน้ำ โดยปรับพื้นที่บริเวณโคนต้น ตัดรากมะนาวที่งอกลงดินออกให้หมด




3.เติมวัสดุผสมดินให้เต็มปากวงบ่อซีเมนต์ เพื่อง่ายต่อการคลุมพลาสติก ไม่ให้น้ำลงต้นมะนาว



4.คลุมพลาสติก (พลาสติกกันฝน) มาคลุมปากวงบ่อซีเมนต์บริเวณโคนต้นมะนาวไม่ให้น้ำซึมลงไปในดินปลูก 




5.งดการให้น้ำ จนมะนาวแสดงอาการขาดน้ำจนใบเหี่ยวให้มีใบร่วงประมาณ 1 ใน 4 ของใบมะนาวทั้งต้น





6.นำพลาสติกใสที่คลุมบริเวณโคนต้นมะนาวออกแล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8 - 24 24 หรือ 15- 15-15  ประมาณ 1 - 2 ช้อนแกง จากนั้นให้น้ำจนดินเปียกชุ่ม




7.มะนาวที่บังคับในวงบ่อซีเมนต์จะออกดอก - ติดผลขนาดเล็ก ถึงเก็บผลผลิตเวลาประมาณ 5.56 เดือน



         การปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์โดยไม่ใช้สารบังคับนี้จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ มะนาวเป็นพืชที่ปลูกไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเกินไปต้องให้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ และคอยหมั่นระวังโรคและแมลงศัตรู ซึ่งปัญหาหลักๆ คือ หนอนชอนใบ หนอนกินใบ เพลี้ยไฟ โรครากเน่าโคนเน่าและโรคแคงเกอร์ อย่างไรก็ตามหากทำตามขั้นตอนปฏิบัติในการปลูกมะนาวและบังคับให้ออกนอกฤดูด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ท่านก็จะมีมะนาวให้เก็บได้ไม่ขาดแคลนในช่วงหน้าแล้งอีกต่อไป







วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

มาดูวิธีปลูกผักสวนครัวง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้




ใบกระเพรา

สรรพคุณ


          ใบกะเพราสด นำมาต้มให้เดือดและกรองเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ขับลม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดในท้อง นอกจากนี้ยังใช้ขับเสมหะ ขับเหงื่อ หรือ ใช้ทาภายนอกแก้โรค ผิวหนัง กลากเกลื้อนได้ สำหรับเมล็ดกะเพรามีสรรพคุณใช้พอกบริเวณตา ทำให้ผง หรือฝุ่น ละอองที่เข้าตาออกมาโดยไม่ทำให้ตาช้ำด้วย ส่วนรากที่แห้งแล้ว นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ อย่างไรก็ตาม สรรพคุณสำคัญของใบกะเพรา ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้กันทั้งที่ใช้บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็คือ สรรพคุณขับไขมันและน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ตำรับอาหารไทยส่วนใหญ่มักมีใบกะเพราะเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยนั่นเองค่ะ


วิธีการปลูก

          วิธีการปลูกใบกะเพราก็ไม่ยากเลย เพียงแค่เริ่มจากเตรียมแปลงปลูก ก่อนหว่านเมล็ดลงไป แต่คุณอาจจะเริ่มจากการปักชำก้านที่เหลือจากการซื้อมาทำกับข้าวก็ได้นะคะ พอต้นโตออกดอก เมล็ดที่หล่นก็งอกต้นใหม่อีกหลายต้น หลังเพาะประมาณ 7 - 10  วัน เมล็ดเริ่มงอก พอผ่านไป 15 - 30 วัน จึงเริ่มใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียมซัลเฟต 1- 2 ช้อนชาต่อน้ำ 10 ลิตร  รดทุก 5 - 7 วันได้ สำหรับการรดน้ำ ให้รดน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอทุกวัน หลังปลูกไปประมาณ 30 - 35 วันก็เก็บกินได้แล้วค่ะ ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้ต้นกะเพราเก็บกินใบได้นาน ๆ ก็คือ อย่าให้ออกดอก พอออกดอกแล้วต้นจะโทรม อายุสั้น ถ้าออกดอกก็ให้หมั่นตัดทิ้งเป็นระยะ